วันเสาร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2557

วิธีทำข้าวต้มมัด

 เครื่องปรุง + ส่วนผสม

1.ข้าวเหนียวเขี้ยวงูใหม่ 800 กรัม
2.กล้วยน้ำว้าสุก 8-10 ผล
3.ถั่วดำ 100 กรัม (แช่น้ำทิ้งไว้ค้างคืน)
4.มะพร้าวขูด 300 กรัม
5.น้ำตาลทราย 100 กรัม
6.เกลือป่น 1 ช้อนชา
7.น้ำดอกไม้สด 3 ถ้วย
8.ใบตองสำหรับห่อ

วิธีทำขนมไทย ทีละขั้นตอน

1.ล้างข้าวเหนียวให้สะอาด ใส่ตะแกรงพักไว้
2.นำถั่วดำที่แช่น้ำไว้ ไปนึ่งพอสุก พักไว้
3.นำมะพร้าวขูดไปผสมกับน้ำดอกไม้ คั้นกะทิสดให้ได้ 3 ถ้วย
4.ตั้งกะทิในกระทะบนไฟร้อนปานกลาง รอจนเดือดจึงใส่เกลือ น้ำตาลทราย และข้าวเหนียวที่ล้างแล้วใส่ตะแกรงพักไว้ ลดไฟลง ผัดจนส่วนผสมเข้ากัน โดยผัดนานประมาณ 15 นาทีจนเริ่มแห้ง จากนันจึงปิดไฟ พักไว้ให้เย็น
5. ปอกกล้วยและฝานเป็นชิ้น 3 ส่วน เตรียมใบตองให้ได้ หน้ากว้างประมาณ 3 นิ้ว ทำความสะอาดทั้งสองด้าน จากนั้น จึงใส่ข้าวเหนียวที่ผัดไว้ (ขั้นตอนที่ 4) ใส่กล้วยตรงกลาง และใส่ข้าวเหนียวปิดหน้า จากนั้นโรยด้วยถั่วดำนึ่งสุก ห่อให้แน่นและมัดด้วยตอก
6.นำข้าวต้มมัดเรียงใส่ลังนึ่ง นึ่งด้วยไฟแรงประมาณ 20 นาที จนสุก ปิดไฟยกลง
7.จัดใส่จาน เสริฟเป็นของว่างในวันสบายๆ




ที่มา http://www.ezythaicooking.com/free_dessert_recipes/Thai_dessert_kanom_kao_tom_mud_th.html

วิธีทำขนมกล้วย

 เครื่องปรุง + ส่วนผสม

กล้วยน้ำว้า 8 - 10 ลูก (ปอกเปลือกและบดให้เละ)
1.แป้งข้าวเจ้า 1 ถ้วยตวง
2.แป้งมัน 1/4 ถ้วยตวง
3.น้ำตาล 1 1/4 ถ้วยตวง
4.เกลือป่น 1/2 ช้่อนชา
5.หัวกะทิ 1/2 ถ้วยตวง
6.เนื้อมะพร้าวขูด 2 ถ้วยตวง

วิธีทำทีละขั้นตอน

1. นำกล้วย, แป้งข้าวเจ้า, แป้งมัน, น้ำตาล, เกลือ, หัวกะทิ และ เนื้อมะพร้าวขูด (ประมาณ 3/4 ส่วนของทั้งหมด) ผสมกัน จากนั้นนวดด้วยมือจนเข้ากันเป็นเนื้อเดียว
2. ตักส่วนผสมในข้อหนึ่งลงในถ้วยหรือแบบที่ต้องการ หรือจะใช้ใบตองห่อก็ได้ แล้วแต่ความสะดวก เสร็จแล้วนำเนื้อมะพร้าวขูดที่เหลือโรยหน้า
3. นำไปนึ่งประมาณ 30 นาที หรืออาจนำไปอบโดยใช้ความร้อนประมาณ 180 องศาเซลเซียส (360 องศาฟาเรนไฮต์) เป็นเวลา 30 นาทีเช่นกัน
4. เมื่อขนมกล้วยสุกแล้ว ให้นำออกจากแบบ สามารถเสริฟได้ทั้งขณะร้อนหรือเย็นแล้ว



ที่มา http://www.ezythaicooking.com/free_dessert_recipes/Thai_steamed_banana_cake_th.html

วิธีทำเม็ดขนุน

เครื่องปรุง + ส่วนผสม

1.ถั่วเขียวเลาะเปลือก 450 กรัม
2.น้ำตาลทราย 200 กรัม (สำหรับผสมถั่ว)
3.น้ำตาลทราย 3 ถ้วยตวง (สำหรับทำน้ำเชื่อม)
4.น้ำกะทิ 400 กรัม
5.น้ำเปล่า 3 ถ้วยตวง (สำหรับทำน้ำเชื่อม)
6.ไข่เป็ด 5 ฟอง (ใช้เฉพาะไข่แดง)

 วิธีทำขนมไทย ทีละขั้นตอน

1.นำถั่วเขียวเลาะเปลือกมาทำความสะอาด และแช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ 2 ชั่วโมง จากนั้นจึงนำไปนึ่งให้สุก ใช้เวลาประมาณ 15 นาที)
2.เมื่อถั่วเขียวสุกดีแล้ว ให้นำไปใส่ในเครื่องปั่นไฟฟ้า พร้อมกับน้ำตาลทรายและน้ำกะทิ ปั่นจนส่วนผสมทั้งหมดเข้ากันดี
3.จากนั้นจึงเทส่วนผสมลงในกระทะทองเหลือง (หรือกระทะเคลือบเทฟลอนก็ได้)และตั้งบนไฟอ่อนๆ ค่อยๆกวนจนข้นและเหนียว (ใช้เวลาประมาณ 20 - 30 นาที) จึงปิดไฟ และทิ้งไว้ให้เย็น (ถั่วต้องแห้ง มิเช่นนั้นจะไม่สามารถนำไปปั้นได้)
4.ก่อนปั้นให้นวดส่วนผสมทั้งหมดอีกครั้งจนเข้ากันเป็นเนื้อเดียว จากนั้นจึงปั้นให้เป็นรูปทรงเม็ดขนุน
5.ทำน้ำเชื่อมโดยผสมน้ำตาลและน้ำเปล่า นำไปเคี่ยวในกระทะทองเหลือง (หรือกระทะเคลือบเทฟลอนก็ได้) จนเหนียวข้นเป็นยางมะตูม จึงปิดไฟ
6.ตอกไข่และเลือกเอาเฉพาะไข่แดงมารวมกัน เขี่ยพอให้ไข่แดงแตก จากนั้นจึงนำเม็ดขนุนที่ปั้นเตรียมไว้ใส่ลงไปแช่ในไข่แดงทีละเม็ด แล้วจึงนำไปใส่ในน้ำเชื่อม พยายามอย่าให้ติดกัน พอใส่ลงไปมากแล้วจึงนำกระทะไปตั้งบนไฟอ่อนๆจนสุกทั่งจึงตักออกมาพัก ทำซ้ำเช่นนี้จนเม็ดขนุนที่ปั้นไว้หมด
7.จัดเม็ดขนุนใส่จาน เสริฟทานเป็นของว่างในวันสบายๆ




ที่มา http://www.ezythaicooking.com/free_dessert_recipes/Thai_green_peanut_paste_th.html

วันจันทร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2557

วิธีทำฝอยทอง


 เครื่องปรุง + ส่วนผสม

1.ไข่เป็ด 5 ฟอง
2.ไข่ไก่ 5 ฟอง
3.น้ำตาลทราย 2 1/2 ถ้วยตวง
4.น้ำลอยดอกมะลิ 1 1/2 ถ้วยตวง (หรือน้ำเปล่า)
5.ไข่น้ำค้าง 2 ช้อนโต๊ะ (ไข่ขาวส่วนที่เป็นน้ำใสๆ ที่ติดอยู่กับเปลือกด้านป้าน)
6.น้ำมันพืช 1 ช้อนชา
7.กรวยทองเหลืองหรือกรวยใบตอง (สำหรับโรยไข่ในกระทะ)
8.ไม้แหลม (สำหรับตักและพับฝอยทองในกระทะ)

วิธีทำขนมไทย ทีละขั้นตอน

1. ต่อยไข่ไก่และไข่เป็ด เลือกเอาเฉพาะไข่แดง นำออกมากรองด้วยผ้าขาวบางเพื่อรีดเอาเยื่อออก
2. ผสมไข่แดง, ไข่น้ำค้างและน้ำมันพืชเข้าด้วยกัน คนจนผสมกันทั่ว
3. นำน้ำลอยดอกมะลิผสมกับน้ำตาลในกระทะทองเหลืองและนำไปตั้งไฟร้อนปานกลาง รอจนเดือด
4. นำส่วนผสมไข่แดงใส่ลงไปในกรวยและนำไปโรยในน้ำเชื่อมที่เดือด ทิ้งไว้ประมาณ 1 นาทีจนไข่สุกจึงใช้ไม้แหลม สอยขึ้นและพับให้เป็นแพตามต้องการ
5. จัดใส่จาน เสริฟเป็นของว่างทางเล่นในวันสบายๆ









วันจันทร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2557

วิธีทำกล้วยบวชชี

เครื่องปรุง + ส่วนผสม


1.กล้วยน้ำว้า 8 ลูก (เลือกห่ามๆ ไม่สุกมาก)
2.หัวกะทิ 450 มิลลิลิตร
3.หางกะทิ 500 มิลลิลิตร
4.ใบเตย 2 ใบ
5.น้ำตาลปี๊บ 40 กรัม
6.น้ำตาลทรายขาว 40 กรัม
7.เกลือ

วิธีทำขนมไทย ทีละขั้นตอน

1. นำกล้วยไปนึ่งในน้ำเดือดประมาณ 3-5 นาที หรือนึ่งจนกระทั่งผิวกล้วยเริ่มแตกออก จึงปิดไฟและนำออกมาปอกเปลือกและหั่นครึ่งลูก จากนั้นจึงหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ
2. นำหางกะทิไปต้มในหม้อและใส่ใบเตยลงไปด้วย เมื่อเดือดแล้วจึงใส่กล้วยที่หั่นไว้แล้วลงไป ตามด้วยน้ำตาลปี๊บ, น้ำตาลทรายขาวและเกลือนิดหน่อย
3. เมื่อกะทิเริ่มเดือดอีกครั้งจึงใส่หัวกะทิลงไป และปล่อยทิ้งไว้ให้เดือดอีกประมาณ 3 นาที ถ้าต้องการให้น้ำข้นเหนียวก็ให้ใส่แป้งมันลงไปประมาณ 1 ช้อนชาและคนให้ละลายทั่ว
4. อย่าต้มนานจนเกินไปเพราะจะทำให้กล้วยเละ กล้วยควรจะยังแข็งนิดหน่อย จากนั้นตักใส่จานและเสริฟทันที








วิธีทำขนมทองหยอด


เครื่องปรุง + ส่วนผสม

1.ไข่เป็ด 18 ฟอง
2.แป้งทองหยอด 1 ถ้วยตวง (หรือแป้งข้าวเจ้า) 
3.น้ำตาลทราย 5 ถ้วยตวง
4.น้ำลอยดอกมะลิ 5 ถ้วยตวง

วิธีทำขนมไทย ทีละขั้นตอน

1. ผสมน้ำลอยดอกไม้กับน้ำตาลทรายลงในกระทะทองเหลือง แล้วนำไปตั้งไฟแรงให้เดือด เคี่ยวทิ้งไว้ประมาณ 10-15 นาที จากนั้นจึงแบ่งน้ำเชื่อมส่วนหนึ่งออกมาสำหรับแช่ทองหยอดที่สุกแล้ว
2. ต่อยไข่ แยกไข่ขาวออก ใช้เฉพาะไข่แดง โดยนำไข่แดงไปกรองในผ้าขาวบางเพื่อรีดเอาเยื่อออก จากนั้นจึงตีไข่แดงให้ขึ้นฟู จากนั้นค่อยๆผสม แป้งทองหยอดลงไปและคนให้แป้งและไข่แดงเข้ากัน
3. นำไข่แดงที่ผสมแป้งเรียบร้อยไปหยอดในน้ำเชื่อม สำหรับวิธีหยอดนั้นให้ใช้นิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ และนิ้วกลาง หยิบส่วนผสมมาเป็นลูกขนาดพอประมาณ แล้วจึงสบัดลงไปในน้ำเชื่อม ทำเช่นนี้จนเต็มกระทะทองเหลือง จากนั้นรอจนทองหยอดสุกจึงตักออกมาพักใส่ในน้ำเชื่อมที่แยกไว้ก่อนหน้านี้ (ทองหยอดที่สุกจะลอยขึ้น)
4. จัดทองหยอดใส่จานเสริฟเป็นของว่างหรือของทานเล่นในวันพักผ่อนสบายๆ






วิธีทำขนมทองหยิบ


 เครื่องปรุง + ส่วนผสม

1.ไข่เป็ด 8 ฟอง (ใช้เฉพาะไข่แดง)
2.น้ำเปล่า 6 ถ้วยตวง
3.น้ำตาลทราย 3 ถ้วยตวง

วิธีทำขนมไทย ทีละขั้นตอน

1. ผสมน้ำเปล่าและน้ำตาลทรายลงในกระทะทองเหลือง นำไปตั้งบนไฟอ่อนจนละลายปิดไฟ ทิ้งไว้ให้เย็นนำไปกรองด้วย ผ้าขาวบางหนึ่งครั้ง
2. นำน้ำเชื่อมที่กรองแล้วไปตั้งบนไฟร้อนปานกลาง กะพอให้น้ำเชื่อมร้อนจัดแต่ไม่ให้เดือดพล่าน
3. ใส่ไข่แดงลงในถ้วย ตีจนขึ้นฟู เมื่อน้ำเชื่อมร้อนได้ที่ ใช้ช้อนตักไข่แดงที่ตีจนฟู หยอดลงในน้ำเชื่อม ไข่จะแผ่เป็นวงกลม ใช้ช้อนกลับหน้าสักครั้งเพื่อให้สุกทั่วทั้งสองด้าน จากนั้นจึงตักขึ้น
4. รอจนหายร้อน จึงจับจีบโดยใช้นิ้วมือหยิบ 5 หยิบแล้วใส่ลงในถ้วยตะไลหรือแบบพิมพ์ที่เตรียมไว้











วิธีทำทองม้วน


เครื่องปรุง + ส่วนผสม

1.แป้งสาลี 850 กรัม 
2.น้ำตาลทราย 600 กรัม
3.ไข่เป็ด 5 ฟอง
4.มะพร้าวขูด 1 กิโลกรัม
5.แป้งหอมผสมอาหาร 1/2 ช้อนชา
6.งาขาว

วิธีทำขนมไทย ทีละขั้นตอน

1. นำมะพร้าวไปคั้นให้ได้น้ำกะทิ จากนั้นจึงนำไปตั้งบนไฟร้อนปานกลาง เคี่ยวจนกะทิแตกมัน
2. ผสมแป้งสาลีกับน้ำตาลทราย แล้วจึงนำน้ำกะทิที่ได้จากขั้นตอนที่หนึ่งมาผสม คนจนแป้งละลายดี
3. ตอกไข่ใส่ลงไป ตีจนขึ้นฟอง จึงใส่แป้งหอมผสมอาหารและงาขาว คนจนผสมกันทั่ว พักทิ้งไว้
4. ทาน้ำมันบนกระทะแบน รอจนร้อนจึงหยอดแป้งที่เตรียมไว้ลงไป รอให้สุกจึงกลับหน้าให้เหลืองทั้งสองด้าน ขณะที่ขนมยังร้อน พับม้วนตามต้องการ จึงนำออกจากเตา
5. เสริฟรับประทานได้ทันที หรือเก็บในภาชนะมิดชิดเพื่อไว้รับประทานภายหลัง









วันอังคารที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ขนมไทยที่น่าสนใจ

ทองหยิบ

     ทองหยิบ เป็นขนมโบราณที่อยู่ในชุดของขนมที่ใช้ในงานมงคลต่าง ๆ เช่นกันเพราะขึ้น ต้นด้วยทองซึ่งมีลักษณะและสีคล้ายกัน ทั้งทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ดังนั้น เมื่อนำมาใช้ในพิธีจะใช้เป็นชุดทั้งหมด ซึ่งนอกจากจะถือเคล็ดที่ชื่อขนมขึ้นต้นด้วยทอง แล้ว ยังถือเคล็ดชื่อต่อท้ายคือหยิบ ซึ่งหมายถึง หยิบเงิน หยิบทองอันจะนำไปสู่ความ ร่ำรวยต่อไป



ทองหยอด
      ทองหยอดเป็นขนมโบราณชนิดหนึ่งซึ่งท่านผู้หญิงวิชเยนทร์ หรือนามเดิม มารี นินยา เดอ กีย์มาร์ เชื้อสายญี่ปุ่น – โปรตุเกส ภรรยาเจ้าพระยาวิชเยนทร์ (นามเดิมคอนสแตน ติน ฟอลคอลชาวกรีก) ท่านผู้หญิงวิชเยนทร์ มีตำแหน่งเป็นท้าวทองกีบม้า เป็นตำแหน่ง ผู้ปรุงอาหารหลวงโดยท่านได้นำเอาความรู้ที่มีมาแต่เดิมผสมผสานกับความรู้ท้องถิ่นปรุงแต่งอาหารขึ้นใหม่ จนเป็นที่รู้จัก คือ ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง (เดิมชาวโปรตุเกส กินกับเนื้อย่างเป็นอาหารคาว)นับเป็นขนมชั้นดี ใช้ในงานมงคลต่าง ๆ ซึ่งคนไทยเรายังถือ เคล็ดกันอยู่จึงใช้ขนมที่ขึ้นต้นด้วยทอง เพื่อให้เกิดความเป็นมงคลตามชื่อขนม




ฝอยทอง
     ฝอยทอง เป็นขนมโปรตุเกส ลักษณะเป็นเส้นฝอยๆ สีทอง ทำจากไข่แดงของไข่เป็ด เคี่ยวในน้ำเดือดและน้ำตาลทราย ชาวโปรตุเกสใช้รับประทานกับขนมปัง กับอาหารมื้อหลักจำพวกเนื้อสัตว์ และใช้รับประทานกับขนมเค้ก โดยมีกำเนิดจากเมืองอาไวโร่เมืองชายฝั่งทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศโปรตุเกสฝอยทองแพร่เข้ามาในประเทศไทยพร้อมกับทองหยิบและทองหยอด ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดย ดอนญ่า มารี กีมาร์ เดอปิน่า ลูกครึ่งโปรตุเกส-ญี่ปุ่น ภริยาของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ท้าวทองกีบม้ามีหน้าที่เป็นหัวหน้าห้องเครื่องต้น เป็นผู้ทำอาหารเลี้ยงต้อนรับคณะราชทูตจากฝรั่งเศสที่มาเยือนกรุงศรีอยุธยาในสมัยนั้น ตามปกติขนมไทยแท้ๆจะไม่เอาไข่เป็นส่วนผสมในการทำขนมกันนัก ส่วนใหญ่จะเป็น แป้ง กะทิ น้ำตาล มะพร้าวมากกว่าอย่างอื่น เมื่อชาวโปรตุเกสเข้ามาค้าขายกับคนไทยในยุคนั้นก็จะพาแม่บ้านมาด้วยเลยได้สอนการทำฝอยทองให้แก่คนไทยจนเป็นที่ถูกอกถูกใจทำกินจนถึงปัจจุบัน






อ้างอิงมาจาก http://khanomfoithong.blogspot.com
                       http://youyouol.wordpress.com





ประวัติและความเป็นมาของขนมไทย

   
 ประวัติและความเป็นมาของขนมไทย
     
      ขนมจัดเป็นอาหารที่คู่สำรับกับข้าวไทยมาตั้งแต่ครั้งโบราณ โดยใช้คำว่าสำรับกับข้าวคาว-หวาน โดยทั่วไปประชาชนจะทำขนมเฉพาะในงานเลี้ยง นับตั้งแต่การทำบุญเลี้ยงพระงานมงคลและงานพิธีการ อาหารหวานที่จัดเป็นสำรับจะต้องประกอบด้วย ของหวานอย่างน้อย 5 สิ่ง ซึ่งต้องเลือกให้มีรสชาติ สีสัน ชนิด ตลอดจนลักษณะที่กลมกลืนกัน แต่ละสำรับจะต้องมีผลไม้ 10 ที่ และขนมเป็นน้ำ 1 ที่เสมอ ประเทศไทยครั้งยังเป็นสยามประเทศได้ติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติ  เช่น จีน อินเดีย มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยส่งเสริมการขายสินค้าซึ่งกันและกัน ตลอดจนแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมด้านอาหารการกินร่วมไปด้วย ต่อมาในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ ได้มีการเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ อย่างกว้างขวางไทยได้รับเอาวัฒนธรรมด้านอาหารของชาติต่าง ๆ มาดัดแปลงให้เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่น วัตถุดิบที่หาได้ เครื่องมือเครื่องใช้ ตลอดจนการบริโภคนิสัยแบบไทย ๆ จนทำให้คนรุ่นหลัง ๆ   แยกไม่ออกว่าอะไรคือขนมที่เป็นไทยแท้ ๆ  และอะไรดัดแปลงมาจากวัฒนธรรมของชาติอื่น เช่น ขนมที่ใช้ไข่และขนมที่ต้องเข้าเตาอบ ซึ่งเข้ามาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จากคุณท้าวทองกีบม้าภรรยาเชื้อชาติญี่ปุ่น สัญชาติโปรตุเกสของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ ผู้เป็นกงศุลประจำประเทศไทยในสมัยนั้น ไทยมิใช่เพียงรับทองหยิบ ทองหยอด และฝอยทองมาเท่านั้น หากยังให้ความสำคัญกับขนมเหล่านี้โดยใช้เป็นขนมมงคลอีกด้วย  ส่วนใหญ่ตำรับขนมที่ใส่มักเป็น "ของเทศ" เช่น ทองหยิบ ฝอยทอง ทองหยอดจากโปรตุเกส มัสกอดจากสกอตต์ขนมไทย เป็นเอกลักษณ์ด้านวัฒนธรรมประจำชาติไทยอย่างหนึ่งที่เป็นที่รู้จักกันดี เพราะเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความละเอียดอ่อนประณีตในการทำ ตั้งแต่วัตถุดิบ วิธีการทำ ที่กลมกลืน พิถีพิถัน ในเรื่องรสชาติ สีสัน ความสวยงาม กลิ่นหอม รูปลักษณะชวนรับประทาน ตลอดจนกรรมวิธีการรับประทาน ขนมแต่ละชนิด ซึ่งยังแตกต่างกันไปตามลักษณะของขนมชนิดนั้น ๆ ขนมไทยที่นิยมทำกันทุก ๆ ภาคของประเทศไทยในพิธีการต่าง ๆ เนื่องในการทำบุญเลี้ยงพระ ก็คือขนมจากไข่ และมักถือเคล็ดจากชื่อและลักษณะของขนมนั้น ๆ  งานศิริมงคลต่าง ๆ เช่น งานมงคลสมรส ทำบุญวันเกิด หรือทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ส่วนใหญ่ก็จะมีการเลี้ยงพระกับแขกที่มาในงาน เพื่อเป็นศิริมงคลของงานขนมก็จะมีฝอยทอง เพื่อหวังให้อยู่ด้วยกัน ยืดยาวมีอายุยืน ขนมชั้น ก็ให้ได้เลื่อนขั้นเงินเดือน ขนมถ้วยฟูก็ขอให้เฟื่องฟู ขนมทองเอกก็ขอให้ได้เป็นเอก เป็นต้น
ขนมที่ใช้ในงานมงคลสมรส
        ถ้าเป็นงานมงคลสมรสมักจะทำขนมหวานให้ครบ 9 สิ่งขนมที่ใช้ในงานมงคลสมรสตามประเพณี  ทางฝ่ายเจ้าสาวจะต้องเป็นผู้จัด และขนมที่นิยมจัด คือ
1. ฝอยทองหรือทองหยิบ
2. ขนมชั้น
3. ขนมถ้วยฟู
4. ขนมทองเอก
5. ขนมหม้อแกง
6. พุทราจีนเชื่อม
7. ข้าวเหนียวแก้ว หรือวุ้นหน้าสีต่าง ๆ
8. ขนมดอกลำดวน
9. ผลไม้ต่าง ๆ ลอยแก้ว
         แต่ตามความเชื่อบางอย่างของคนไทย ขนมที่มีลักษณะเป็นเส้น มักจะใช้สำหรับงานทำบุญอายุ เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้มีอายุยืนยาว แต่กลับไม่ใช้จัดในงานศพ   เพราะเชื่อว่าจะมีการตายต่อเนื่องไม่เป็นมงคล  ความเชื่อเหล่านี้ถือเป็นเหตุผลของแต่ละบุคคลมิได้เป็นข้อห้ามเสียทีเดียว ขนมหวานไทย หมายถึง อาหารชนิดหนึ่งที่ไม่ใช่กับข้าว แต่เป็นอาหารที่รับประทานตามหลังของคาว เช่น ในอาหารมื้อกลางวันมีก๋วยเตี๋ยวไก่เป็นของคาว ผู้รับประทานอาจจะรับประทานทับทิมกรอบเป็นของหวาน เป็นต้น เมื่อบริโภคอาหารมื้อสำคัญ ๆ เช่น มื้อเช้า มื้อกลางวัน มื้อเย็น ควรบริโภคทั้งของคาวและของหวาน สิ่งที่ใช้เป็นของหวานอาจเป็นขนมหรือผลไม้ก็ได้นอกจากจะรับประทานขนมหวานหลังของคาว เราอาจรับประทานขนมหรือขนมหวานในเวลาที่มิได้รับประทานอาหารคาว แต่จะรับประทานขนมหรือขนมหวานเป็นของว่าง หรือรับประทานขนมหวานกับเครื่องดื่มขนมหวานไทย จะมีความหวานนำ หรือมีความหวานจนรู้สึกในลิ้นของผู้รับประทานการทำขนมหวานไทย เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาและฝึกฝน ต้องใช้ศิลปะ วิทยาศาสตร์และความอดทน  และความเป็นระเบียบ ความพิถีพิถัน ในการประกอบ ขนมไทยแท้ ๆ  ต้องมีกลิ่นหอม หวาน มัน  มีความประณีต  ที่เกิดขึ้นตั้งแต่การเตรียมส่วนผสม จนกระทั่งวิธีการทำขนมไทย สามารถจัดแบ่งเป็นชนิดต่าง ๆ ได้ตามลักษณะของเครื่องปรุง ลักษณะกรรมวิธีในการทำ   และลักษณะการหุงต้ม คือ
           1. ขนมประเภทไข่ เช่น ฝอยทอง ทองหยิบ ทองหยอด สังขยา ฯลฯ
           2. ประเภทนึ่ง เช่น ขนมชั้น ขนมสาลี่ ขนมน้ำดอกไม้ ขนมทราย ฯลฯ
           3. ขนมประเภทต้ม เช่น ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว มันต้มน้ำตาล ฯลฯ
           4. ขนมประเภทกวน เช่น ขนมเปียกปูน ซ่าหริ่ม ขนมตะโก้ ฯลฯ
           5. ขนมประเภทอบและผิง เช่น ขนมดอกลำดวน ขนมบ้าบิ้น ขนมหน้านวล ฯลฯ
           6. ขนมประเภททอด เช่น ขนมกง ขนมฝักบัว ขนมสามเกลอ ฯลฯ
           7. ขนมประเภทปิ้ง เช่น ข้าวเหนียวปิ้ง ขนมจาก ฯลฯ
           8. ขนมประเภทเชื่อม เช่น กล้วยเชื่อม สาเกเชื่อม ฯลฯ
           9. ขนมประเภทฉาบ เช่น เผือกฉาบ กล้วยฉาบ มันฉาบ ฯลฯ
         10. ขนมประเภทน้ำกะทิ เช่น เผือกน้ำกะทิ ลอดช่องน้ำกะทิ ฯลฯ
         11. ขนมประเภทน้ำเชื่อม เช่น ผลไม้ลอยแก้ว วุ้นน้ำเชื่อม ฯลฯ
         12. ขนมประเภทบวด เช่น กล้วยบวดชี แกงบวดเผือก ฯลฯ
         13. ขนมประเภทแช่อิ่ม เช่น มะม่วงแช่อิ่ม มะเขือเทศแช่อิ่ม สะท้อนแช่อิ่ม ฯลฯ
อ้างอิงจาก http://www.oknation.net/blog/print.php?id=192276